
เปิดถ้วยแทง ขึ้นผอ.สำนักฯอาชีวะระดับสูง คนในส่วนกลางถูกเท! คนจากวิทยาลัยกวาดเกลี้ยง
นายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวะแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) กล่าวเปิดได้เผยว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้บริหารตำแหน่งอำนวยการสูงโดยประกาศรับสมัครเมื่อวันที่ 28 เมษายน ถึง 7 พฤษภาคม 2568 และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับการคัดเลือกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดยมีผู้สมัครทั้งหมด 25 คน กำหนดสอบสัมภาษณ์วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 6 ราย และต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ประกาศคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ 988/2568 ลงวันที่ 15 พ.ย. 2568 เรื่องรับโอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งผู้บริหารอำนวยการระดับสูง โดยบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักฯ จำนวน 3 ราย ประกอบไปด้วย

1. นางสาวเบญจวรรณ ปกป้อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ
2. นายอัศวิน ข่มอาวุธ ตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีวศึกษาและวิชาชีพ
3. นายภูวดล มิ่งขวัญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป พี่น้องชาวอาชีวะต่างออกแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์และร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับการแต่งตั้งทั้ง 3 ราย ในส่วนผู้ที่ผิดหวังก็ต้องขอให้กำลังใจสู้กันต่อไปในโอกาสหน้าเพราะการสอบคัดเลือกครั้งนี้มีกระแสข่าวออกมาล่วงหน้าแล้วว่ามีการวางตัววางคนการเมืองจังหวัดดังที่มีอำนาจในกระทรวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการรับสมัคร แต่พอผ่านการสมัครแล้วผลการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 6 ราย ก็ยิ่งมีความชัดเจนและคาดเดาไว้ว่า 3 ใน 6 รายนี้ควรจะเป็นใครผลก็ออกมาเป็นตามที่ทุกคนคาดไว้ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเป็นที่น่าข้าราชการส่วนกลางซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่การงานตามสำนักต่างๆในส่วนกลาง ซึ่งมีประสบการณ์และบางรายมีวิทยฐานเชี่ยวชาญ ไม่สามารถผ่านการคัดเลือกได้ หรือผอ. วิทยาลัยบางท่านซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ซึ่งเทียบเท่าระดับสำนักหรือผอ.วิทยาลัยบางท่านมีความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรม ผลงานสิ่งประดิษฐ์ มีความรู้ด้านระเบียบกฎหมาย เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน หรือเคยรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักซึ่งเป็นตำแหน่งอำนวยการสูงมาก่อน แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งทำให้หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าทำให้หมดขวัญและกำลังใจแทนที่อาชีวศึกษาจะได้พิจารณาบุคคลที่มีความรู้มีประสบการณ์การทำงานทั้งในสถานศึกษาและในส่วนกลางมาอย่างยาวนานแต่ผลการคัดเลือกเป็นอย่างที่เห็น ไม่เป็นไปตามที่ทางผู้บริหารระดับสูงของสอศ.ได้ประกาศไปว่า “ศรัทธา เชื่อมั่น สุจริต”
ด้านผู้อำนวยการจากวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้ารับการสมัครคัดเลือกครั้งนี้ ล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายเช่นกันแต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะผ่านด่านคัดเลือกได้ ซึ่งทุกคนต่างพูดตรงกันก็คือรู้ๆอยู่แล้วแต่ก็มาสมัครเพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถของตนเองโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะผ่านด่านนี้ได้ มาเป็นเพียงแค่ไม้ประดับ แค่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการเท่านั้นหรือ นี่คือมิติหนึ่งของการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงซึ่งหลายคนมองว่าการที่บุคลากรมีตำแหน่งสูงขึ้นมีหน้าที่การงานสูงขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสที่ดีจะได้แสดงความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง แต่วันนี้ทุกคนมองว่าระบบการคัดเลือกคัดสรรตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยที่ผ่านมาซึ่งเป็นมีเรื่องร้องเรียนกันมาจนถึงปัจจุบันนี้แม้จะมีการบรรจุแต่งตั้งโดยเร็วไปแล้วก็ตามแต่ยังมีกระแสที่จะต้องติดตามอยู่รวมถึงการจัดคัดเลือกผู้บริหารอำนวยการระดับสูงในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการสอบผู้อำนวยการวิทยาลัยที่ผ่านมา ล้วนแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ตลอดมา

ถ้ากระบวนการคัดเลือกการคัดสรรได้ผู้มีความรู้ความสามารถที่จะมาทำงานให้กับส่วนกลางเพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างแท้จริงนั้นก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถตรงตามสาขามีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อที่จะขับเคลื่อนงาน ให้หน่วยงานนั้นพัฒนาได้อย่างแท้จริงแต่วันนี้ก็เป็นเพียงแค่เป็นความฝันที่ทุกคนอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่รู้ว่าความฝันนี้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ จนมีคนพูดออกมาว่าระบบอุปถัมภ์ ที่ขาดคุณธรรม จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้จริงก็น่าสงสารอาชีวะไทย น่าสงสารประเทศไทย จะพัฒนาไปได้อย่างไรครับพี่น้องครับ