
กมธ. เกษตรฯ วุฒิสภา ติดตามผลกระทบจากอุทกภัยภาคเหนือที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ สวนลำไยลุงคำรณ สุรินธรรม บ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย นายชูชีพ เอื้อการณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยภาคเหนือ โดยมี นายอมร สุวินธรรม นายกเทศมนตรีเหมืองง่า พร้อมด้วยเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ปัญหาเกี่ยวกับ ระเบียบการเยียวยาความเสียหายจากน้ำท่วมซึ่งต้องเป็น ความเสียหายสิ้นเชิง แต่ลำไยเป็นไม้ยืนต้นไม่สามารถระบุความเสียหายตามระยะเวลาที่กำหนดได้ การเยียวยาของจังหวัดและส่วนท้องถิ่นยังไม่ สามารถชดเชยเท่ากับความเสียหายจริงของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นมีความพยายามหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรต่อไป


ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและผู้นำท้องถิ่น ควรร่วมกันระดมความคิดเห็น รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาและข้อจำกัดในการขอรับการเยียวยา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับระเบียบเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัยให้มีความเหมาะสม
2. ควรหาแนวทางการป้องกันและการแจ้งเตือนภัยที่จะส่งผลต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เพื่อลดความเสียหาย เช่น การแจ้งเตือนที่จะต้องบอกระดับน้ำที่จะเข้าในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันในอนาคต
3. ควรมีการศึกษาข้อมูลและแยกปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความเสียหายในพื้นที่ปลูกลำไย เช่น ปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยการบริหารจัดการสวน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการขอรับการเยียวยา
4. ควรใช้พื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูล ทั้งด้านคุณภาพดิน ศักยภาพน้ำ เพื่อกำหนดแนวทางในการฟื้นฟูและเยียวยาที่มีความสอดคล้องกับความเสียหายและสถานการณ์ปัจจุบัน
5. เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ควรมีอาชีพสำรองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถมีรายได้ในการดำรงชีวิตต่อไป
จากนั้น เวลา 15.00 นาฬิกา ณ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมี นางวาสนา บุญธรรมช่วย นายอำเภอสันป่าตอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนเกษตรกร ได้ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง เนื่องจากตำบลแม่ก๊า เป็นพื้นที่ลุ่ม รับน้ำที่ไหลมาจากหลายพื้นที่ซึ่งไม่มีทางระบาย ต้องใช้วิธีการสูบน้ำออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ตำบลแม่ก๊ามีความต้องการสถานีสูบน้ำอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดการระบายน้ำให้เร็วที่สุด


ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะ
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำควรบูรณาการร่วมกันถอดบทเรียนให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
2. ควรมีการสร้างแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ด้านบน เพื่อชะลอการไหลของน้ำ และควรส่งเสริมโครงการปลูกป่า การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เพื่อให้มีพื้นที่ดูดซับน้ำให้มากที่สุด รวมถึง พื้นที่ลุ่มควรสร้างกำแพงกั้นน้ำเพื่อกันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรและบ้านเรือนของประชาชน
3. ควรมีการแก้ไขระเบียบและหลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะคำจำกัดความ “ตาย” และ “เสียหายโดยสิ้นเชิง” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั้งมิติของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำสรุปข้อมูลเชิงสถิติ และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความเสียหาย และป้องกันความสุ่มเสี่ยงในการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4. ควรมีโครงการประกันภัยพืช โดยออกรัฐครึ่งหนึ่งเกษตรกรครึ่งหนึ่ง เพื่อลดภาระด้านงบประมาณที่จะใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร
5. ควรตรวจสอบสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการนำหลักวิชาการมาใช้ในการวางแผนโครงสร้างการป้องกันปัญหาภัยพิบัติ
6. บทบาทของวุฒิสภามีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ เช่น การปรึกษาหารือ การตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ และวุฒิสภามีคณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภา กรณีประชาชนและเกษตรกรมีปัญหาสามารถเสนอมายังวุฒิสภาเพื่อให้ช่วยผลักดันไปสู่การแก้ไข พร้อมกันนี้ คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานสภาพพื้นที่สวนลำไยของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และได้ให้ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ


