
ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงหุ้นกู้ STARK ร้องอนุกมธ.ด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัย ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


วันที่ 30 ตุลาคม 2567 เวลา 10.40 นาฬิกา ณ ห้องประชุม CA 326 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา นายปฏิมา จีระแพทย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัย ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา รับหนังสือร้องเรียนจากผู้เสียหายคดีฉ้อโกงหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) นำโดย นายเอกภักดิ์ ศรีอัษฎาพร ตัวแทนผู้เสียหาย เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความบกพร่องต่อหน้าที่หรือเลือกปฏิบัติ และเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดจากคดีทุจริตและฉ้อโกงหุ้นกู้ STARK หรือไม่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวโทษบริษัท STARK กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK ต่อกรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 13,261 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม “STARK ตัวจริง” และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน สร้างความเสียหายแก่สังคมเศรษฐกิจและประเทศชาติ จึงขอให้คณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


นายปฏิมา จีระแพทย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้และจะดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาเพื่อกราบเรียนประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ จะได้เดินหน้าบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อหาข้อสรุปจากเหตุการณ์ดังกล่าวและวางแนวทางป้องกันไม่ให้นักลงทุนได้รับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต