พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชัยพรรษ เสริมสุวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ช่วยทำงานชั่วคราว ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 พลโทอมฤต  บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจโทสุรพล เปรมบุตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นายกีรติ  กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ นายกิตติพงศ์  กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เข้าอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ชั้น G ประตู S101 ไปยังโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 3 และเสด็จเข้ามณฑลพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบเสร็จแล้ว จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังแท่นมณฑลพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1” ทั้ง 2 ทิศทางของอาคาร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้ามณฑลพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประดิษฐานเหนือป้ายชื่ออาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จากนั้นพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสให้ นายกีรติ  กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำเร็จตามเป้าหมาย เฝ้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 80 ราย เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เฝ้าฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายอภิรัฐ  ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฝ้าฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เสร็จแล้ว นายกีรติ  กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายแผ่นศิลาเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลง พระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไทยในแผ่นศิลา เสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากมณฑลพิธีไปยังห้องประทับรับรอง สมควรแก่เวลา เสด็จออกจากห้องรับรองที่ประทับไปยังบริเวณที่จัดนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “คมนาคมรวมใจ นำไทยสู่ศูนย์กลางการบิน” โดยกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอ นโยบายและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ วิสัยทัศน์และพันธกิจในการยกระดับระบบคมนาคมของประเทศไทย 

จากนั้น ทรงทอดพระเนตร นิทรรศการของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้บอกเล่าการดำเนินกิจการท่าอากาศยานไทยทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โครงการในพระราชดำริการระบายน้ำ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และได้ทอดพระเนตร แบบจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อมีการพัฒนา เต็มรูปแบบ ต่อจากนั้นทรงทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และแผนโครงการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบิน นิทรรศการของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

นำเสนอเกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่อง กับการพัฒนาระบบการบินของประเทศ โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการบินและการจราจรทางอากาศ และนิทรรศการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้จัดแสดง ให้เห็นถึง อัจฉริยะภาพด้านการบินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการดำเนินกิจการและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบิน นิทรรศการนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรรมการบินของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญของภูมิภาค

ในการนี้ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับนางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ และผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ชุด สมควรแก่เวลา จึงเสด็จ ฯ ออกจากอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง โดยมี นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทส่งเสด็จ

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกกฎาคม 2567 ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้บริหาร และพนักงาน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ โดยเฉพาะการเปิดใช้อาคาร เทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในอนาคต ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการบินให้สอดคล้องกับความต้องการของการขยายตัวของการเดินทางและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารงาน

โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ทางอากาศของประเทศให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงประเทศไทยกับจุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก นำมาซึ่งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการริเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2543 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่งมีความหมายว่า “แผ่นดินทอง”

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 จากนั้นปีงบประมาณ 2554 – 2560 ทอท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยได้มีการออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยตัวอาคารมีความสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รวมมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีหลุมจอดประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด สำหรับการตกแต่งภายในของอาคาร SAT-1 มีการออกแบบให้เข้ากับอาคารผู้โดยสารหลักเช่นกัน แต่ได้มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม ศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย โดยมีผลงานการตกแต่งชิ้นเอกเป็น

ช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก ส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้านคือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดตั้งสุวรรณบุษบก และ รัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และ ปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ เป็นขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้เดินทาง ภายในชั้น 3 ของอาคารได้รับการออกแบบให้เป็นสวน ตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา โดยผลของความประณีตในการออกแบบตกแต่งดังกล่าว ได้ส่งผลให้คณะกรรมการ The Versailles Selection Committee ร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้คัดเลือกให้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) และ ได้มอบรางวัล Prix Versailles ประจำปี 2024 สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) ให้แก่

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก (UNESCO) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส การเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิม 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี สำหรับทางวิ่งเส้นที่ 3 เป็นทางวิ่งที่มีความยาว 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของท่าอากาศยาน ขนานกับทางวิ่ง เส้นที่ 1 เปิดใช้งานเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยได้เพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากเดิมที่ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ยประมาณ 800 – 1,000 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนา ยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ก้าวเป็นท่าอากาศยานดีเด่นติดอันดับโลก และเป็นกลไกลสำคัญในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและระดับโลก (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยิ่งยืนในระยะยาวต่อไป


  • Related Posts

    สุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT)ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ทสภ. ประจำปีงบประมาณ 2568

    สุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอา…

    รองนายก อบจ.สมุทรปราการอบจ. เข้าร่วมโครงการประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดบางโฉลงใน

    รองนายก อบจ.สมุทรปราการอบจ. เข…

    You Missed

    สุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT)ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ทสภ. ประจำปีงบประมาณ 2568

    • By admin
    • กรกฎาคม 11, 2025
    • 7 views
    สุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT)ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ทสภ. ประจำปีงบประมาณ 2568

    รองนายก อบจ.สมุทรปราการอบจ. เข้าร่วมโครงการประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดบางโฉลงใน

    • By admin
    • กรกฎาคม 10, 2025
    • 9 views
    รองนายก อบจ.สมุทรปราการอบจ. เข้าร่วมโครงการประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดบางโฉลงใน

    โรงเรี่ยนเทศบาล 1 (บางปูใหม่) ได้รับรางวัลเหรียญทองการประกวดแข่งขันการวาดดาบระบายสี ปฐมวัย ในการแข่งขันทักษะทางวิชาการภาดตะวันออก ครั้งที่ 30

    • By admin
    • กรกฎาคม 10, 2025
    • 7 views
    โรงเรี่ยนเทศบาล 1 (บางปูใหม่) ได้รับรางวัลเหรียญทองการประกวดแข่งขันการวาดดาบระบายสี ปฐมวัย ในการแข่งขันทักษะทางวิชาการภาดตะวันออก ครั้งที่ 30

    ท่านเจ้าคุณแจ้ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง นำ คณะสงฆ์ พร้อม พุทธศาสนิกชน เวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา

    • By admin
    • กรกฎาคม 10, 2025
    • 10 views
    ท่านเจ้าคุณแจ้ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง นำ คณะสงฆ์ พร้อม พุทธศาสนิกชน เวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา

    ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    • By admin
    • กรกฎาคม 9, 2025
    • 15 views
    ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    เทศบาลตำบลบางปู จัดโครงการถวายเทียนจำนำพรรษา ประจำปี 2568

    • By admin
    • กรกฎาคม 9, 2025
    • 24 views
    เทศบาลตำบลบางปู จัดโครงการถวายเทียนจำนำพรรษา ประจำปี 2568