
“ศธ. ปลื้ม ปัญหาเด็กตีกันลดลง คืนความปลอดภัยให้สถานศึกษา”
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายเรียนดี มีความสุข โดยเฉพาะการแก้ปัญหานักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาท ซึ่งได้มอบหมายให้นายยศพล เวณุโกเศศเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้สถานศึกษามีความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียนสายอาชีพ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการได้รับรายงานจากศูนย์ความปลอดภัยของ สอศ. พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมาปัญหานักเรียนนักศึกษาอาชีวะยกพวกตีกันลดลงไปจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญถึง 50% ในช่วงที่ผ่านมาในแต่ละปี ศธ.จะได้รับการแจ้งเหตุนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันบางปีมากถึงกว่า 3,000 ครั้ง เกิดความสูญเสียถึงขั้นบาดเจ็บ เสียชีวิตและกระทบภาพลักษณ์อย่างมาก ซึ่งสาเหตุที่นักเรียนนักศึกษาอาชีวะตีกันลดลงนั้น มาจากการที่ สอศ. ทำงานเชิงรุกร่วมกับเครือข่าย ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายและกำชับไปยัง สอศ. ทั้งการป้องกันและปราบปรามปัญหานี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เมื่อมีเหตุนักเรียนนักศึกษาตีกันแล้วมีเพียงการนำเจ้าหน้าที่ไปที่เกิดเหตุ แต่จะต้องมีตรวจสอบปัญหา ติดตามความประพฤตินักเรียนนักศึกษารวมถึงเฝ้าระวังวิทยาลัยอาชีวะกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างต่อเนื่อง



นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมา สอศ.ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และอีกหลายภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันกำหนดทั้งมาตรการป้องกันปลูกฝัง สร้างวัฒนธรรมสันติวิธีในสถานศึกษา และปราบปรามผู้กระทำผิด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการที่ชัดเจนและนำสู่การปฏิบัติ เช่น มีนบุรีโมเดล ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 กองบัญชาการ ตำรวจนครบาล ได้ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่จัดทำขึ้น ให้สถานศึกษาจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุ สำรวจคัดกรองพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษา ปลูกฝังวัฒนธรรมสันติวิธีในสถานศึกษา ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมผู้ปกครอง สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรง ประสานกับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้แดง ห้ามจัดกิจกรรมรับน้องโดยเด็ดขาด รวมถึงการอบรมผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงจัดกิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมจิตอาสาโดยพาไปเยี่ยมชมเรือนจำหรือสถานพินิจ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมปัญหานักศึกษาตีกันถือเป็นการดำเนินงานที่น่าพอใจ และมาตรการที่ สอศ.วางไว้ได้ถูกนำมาต่อยอดทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในการเข้าศึกษาต่อสายอาชีพจะสูงขึ้นตามไปด้วย ปัญหานี้จะได้หมดสิ้นไปอย่างยั่งยืน คืนความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะและประชาชนกลับมาอย่างยั่งยืน
