
ประธานเครือข่ายอาชีวะ ขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสอบผอ.อาชีวะ
จากกรณีที่เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนคัดค้านการสอบ คัดเลือก ผอ. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามประกาศของสอศ. ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ต่อพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 นั้น ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาดำเนินการตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 คณะกรรมการได้ทำหนังสือแจ้งให้ นายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ผู้ร้อง) เดินทางมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ ในวันที่ 30 เมษายน 2568 ณ สำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ได้ให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้ร้องเรียนว่าได้รับข้อร้องเรียนจากรองผู้อำนวยการที่เข้าสอบคัดเลือกผู้อำนวยการในครั้งนี้จำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง ตนไม่มีเรื่องหรือมีอคติใดๆส่วนตัวกับข้าราชการระดับสูงของสอศ. แต่เพื่อเป็นปากเสียงให้ผู้เสียหายให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งเพื่อพิจารณาประเด็นการร้องเรียนต่างๆ โดยได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ร้องเพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบและได้ชี้แจงต่อรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบและยุติธรรมต่อองค์กรและประชาชน ในประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 ชี้แจงเรื่องเหตุผลที่สอศ. ดำเนินการจัดสอบล่าช้ามากทั้งที่มีตำแหน่ง ผอ.ว่างทำให้สถานศึกษานั้นๆขาดผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษามาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีอัตราเกษียณอายุราชการใน เดือนตุลาคม 2567 แต่เหตุใดทาง สอศ.ไม่ดำเนินการสอบ
ประเด็นที่ 2 การประชุมของ อ.ก.ค.ศ. อาชีวศึกษาเกี่ยวกับเรื่องให้ความเห็นชอบของการจัดรับสมัครและสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 โดยไม่โต้แย้งว่าการจะสอบในครั้งนี้ ควรที่จะรอสอบตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีมาตรฐานและคุณภาพตามเกณฑ์ที่ก.ค.ศ กำหนดเพื่อให้เกิดผลดีกับการอาชีวศึกษา
ประเด็นที่ 3 เมื่อ อ.ก.ค.ศ. สอศ.เห็นชอบและดำเนินการจัดสอบโดย อ.ก.ค.ศ.สอศ.ถือว่าเป็นการลงมติที่ไม่ชอบขัดต่อหนังสือประกาศ ก.ค.ศ. ตามหนังสือ ว.19 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ประกาศว่าหน่วยงานใดที่ดำเนินการรับสมัครก่อนก็สามารถดำเนินการได้ ถึงแม้ ก.ค.ศ.จะบอกว่ามีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 แต่การลงประกาศเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้นถือว่าเป็นการแจ้งให้ สอศ. ถือปฏิบัติ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
ประเด็นที่ 4 การที่ ค.ร.อ.ท.ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ให้พิจารณาเหตุผลเพื่อให้อาชีวศึกษาได้ปรับแก้เกณฑ์การสอบเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและได้บุคลากรที่ตรงตามวัตถุประสงค์ตรง
ตาม ก.ค.ศ. แต่รัฐมนตรีได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ทราบผลภายใน 15 วันแต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำหนังสือเชิญให้ผู้ร้องมาให้ชี้แจงเพิ่มเติมในหนังสือแจ้งลงวันที่ 24 เมษายน 2568 เพื่อให้ผู้ร้องได้มาชี้แจงในวันที่ 30 เมษายน 2568 นั้น เป็นการดำเนินการที่ล่าช้ามาก ทำให้การจัดสอบคัดเลือกผอ.ได้ดำเนินการมีการบรรจุแต่งตั้งไปเรียบร้อยแล้ว
นายเศรษฐศิษฎ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การสอบคัดเลือกผอ.มีประเด็นที่สังคมเคลือบสงสัยในหลายประเด็น ตามที่มีสื่อมวลชนได้เสนอข่าว ถึงแม้ทาง สอศ.จะออกมาชี้แจงแต่ก็เป็นการชี้แจงที่ไม่ชัดเจน และยิ่งทำให้มีข้อสงสัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจมีฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง อยู่เบื้องหลัง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงศึกษาที่ดำเนินการล่าช้าเอื้อประโยชน์ต่อใครบางคนหรือไม่

ในตอนท้ายของการให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ โดยนายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ครี ประธานเครือข่ายฯ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ ขอให้เร่งตรวจสอบจากข้อมูลต่างๆ เป็นการดำเนินการด้วยความสุจริตโปร่งใสเป็นไปตามกฎระเบียบหรือไม่ หากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรมและเป็นกลาง ว่าดำเนินการสอบ ผอ.วิทยาลัยในครั้งนี้ ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พิสูจน์ได้ว่าเป็นไปตามระเบียบและถูกต้องทุกประการก็ขอให้แจ้งต่อสาธารณชนได้รับทราบ แต่หากการดำเนินการจัดการสอบในครั้งนี้ผิดและขัดต่อแนวทางปฏิบัติก็ให้รายงานและต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และให้ดำเนินการยกเลิกกระบวนการสอบคัดเลือกทั้งหมด ตนหวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความยุติธรรมกับทุกๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อไป