
“อาชีวะปลื้ม ทุกฝ่ายร่วมมือ สถิติปัญหาทะเลาะวิวาทลดลง”
ปัจจุบันปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรมคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ต่างๆอีกหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตามปัญหานี้อาจจะมีปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียนอยู่บ้างในบางพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง


สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีนโยบายจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย เพื่อให้มีหน่วยในการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้ครูปกครอง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา (พสน.) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ พสน. ให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 (หมายเหตุ การลงโทษนักเรียนและนักศึกษาจะต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง การกลั่นแกล้ง หรือทำไปด้วยความโกรธหรือพยาบาท โดยต้องคำนึงถึงอายุและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษ ซึ่งการลงโทษควรมีเจตนาเพื่อแก้ไขนิสัยและความประพฤติที่ไม่ดี ให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกในความผิด และกลับมาปฏิบัติตนในทางที่ดีต่อไป)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) มี นโยบายเรียนดี มีความสุข ความห่วงใย และมีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยสถานศึกษา ให้แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ด้วยการขับเคลื่อนตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ให้เกิดความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้กำหนด มาตรการป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้


1) กำหนดมาตรการป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีการที่ชัดเจนและนำสู่การปฏิบัติ
2) ให้สถานศึกษาจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุและปฏิทินการดำเนินงาน และวิธีการป้องกันการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษา ให้ชัดเจน
3) ให้สถานศึกษาสำรวจ คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม ดูแลพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษาที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง
4) ให้สถานศึกษากวดขันนักเรียน นักศึกษา ให้อยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาอยู่เสมอและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดหากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด
5) ให้สถานศึกษาจัดประชุมผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา โดยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและร่วมกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไป – กลับ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
6) ให้สถานศึกษาสอดส่องดูแล มิให้มีบุคคลแปลกหน้าเข้าไปในสถานศึกษาโดยเด็ดขาด และกวดขันให้มีการตรวจสอบผู้ผ่านเข้า – ออก สถานศึกษาอย่างเข้มงวด โดยห้ามมิให้บุคคลใดพกพาอาวุธทุกชนิดเข้าในสถานศึกษา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
7) เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และรายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน
8) ให้สถานศึกษาทุกแห่งเพิ่มความพร้อม ประสิทธิภาพของเครื่องมือสื่อสารกล้องวงจรปิดในสถานศึกษา
9) ประสานขอความอนุเคราะห์กับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้แดงในการตรวจตราและเฝ้าระวังเหตุ รวมถึงห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง
จากมาตรการทั้ง 9 ข้อ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยเน้นความปลอดภัย การป้องกันความรุนแรง และการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท ผ่านการวิเคราะห์และปรับใช้แนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถาบัน นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะ จิตอาสา และความรักในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมผลักดันโครงการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประจำวันของนักเรียน เพื่อให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับมาตรการป้องกันความรุนแรงในสถานศึกษา ในการนี้ ได้จัดตั้งกลุ่มสถานศึกษา 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชัยสมรภูมิ กลุ่มแปดริ้ว กลุ่มสวนหลวง ร.9 กลุ่มธนบุรี กลุ่มจตุจักร กลุ่มอนุสรณ์สถาน และกลุ่มกรุงเก่า โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ การจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายให้เป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบบูรณาการ ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง สถานศึกษาคู่อริ และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ เช่น สถานีตำรวจภูธรและชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างกิจกรรมที่มีการบูรณาการร่วมกัน เช่น
1. มีการดำเนินโครงการกองทุนการศึกษา จัดการเรียนระบบทวิภาคีรูปแบบพิเศษในพื้นที่พิเศษ(กรุงเทพฯ
จ.สมุทรปราการ และ จ.ปทุมธานี) เพื่อฝึกระเบียบวินัยให้นักเรียน ปวช.1 โดยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ และให้นักเรียน ปวช.2-3 ไปเรียนในสถานประกอบการ
2. มีนบุรีโมเดล เป็นรูปแบบการบริหารจัดการปัญหาความรุนแรงและความประพฤติของนักเรียนในพื้นที่มีนบุรี โดยเน้นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของนักเรียน และมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ
3. อบรมผู้เรียนกลุ่มเสี่ยง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดกิจกรรมทัศนศึกษา โดยพานักเรียนไปเยี่ยมชมเรือนจำหรือสถานพินิจ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
4. จัดทีมฝ่ายปกครองตรวจตราพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราพื้นที่เสี่ยงในช่วงเช้าและเย็น
เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะบริเวณที่มักเกิดปัญหาเป็นประจำ
5. มีการจัดโครงการห้องเรียนสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัจจัยที่นำมาสู่ความรุนแรงและมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงเพื่อให้สถานศึกษามีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
6. มีการพัฒนา Application ในการแจ้งเหตุเพื่อช่ววป้องกันดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษาร่วมกับสวทช.
7. มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในสถานศึกษา โดยความร่วมมือ ของกรมคุ้มครองสิทธิ์ และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ขอบคุณท่านพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ได้ช่วยสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหานี้เป็นอย่างดี
